วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชนเผ่าพื้นเมืองของใต้

ซาไก อีกหนึ่งวิถีของชนเผ่า
หลายพันปีมาแล้วในพื้นที่ทางตอนใต้ของไทยไล่เลยลงไปถึงพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือของมาเลเซีย มีชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่มาก่อนใคร ชนพื้นเมืองกลุ่มดังกล่าวได้แก่ “ซาไก” หรือ “เงาะป่าซาไก” วันเวลาล่วงมาผู้คนต่างถิ่นขยับขยายพื้นที่พัฒนาแหล่งชุมชนของตนให้เติบใหญ่ขึ้น ทว่าชนเผ่าซาไกยังคงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามรูปแบบเดิมของตนมาจวบจนปัจจุบัน
ชนพื้นเมืองเผ่าซาไกในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มหลายเหล่า บางกลุ่มใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับผู้คนทั่วไปมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงใช้ชีวิตเร่ร่อนในป่าแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีต เช่นซาไกกลุ่มหนึ่งประมาณ 20 คน ในเขตพื้นที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ชนเผ่ากลุ่มนี้ยังคงใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนไปตามป่าทึบในแนวเทือกเขาบรรทัด เขตจังหวัดสตูล พัทลุง และตรัง ซึ่งการพบปะทำได้ยาก เพราะชนเผ่านี้ไม่มีการนับวันเวลาและปฏิทินใดๆ
แต่ก็มีชนเผ่าบางกลุ่มที่มีการเปิดรับรูปแบบชีวิตจากผู้คนทั่วไปมากขึ้น เริ่มมีการปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งตามแนวป่าไม่ไกลจากชาวบ้านมากนัก จนทำให้เราสามารถพบเห็นชนเผ่าซาไกได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน เช่นที่บ้านเขาติง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างใกล้ชิด แต่ยังจำเป็นต้องติดต่อผ่านผู้นำทางที่เป็นชาวบ้านในท้องถิ่นเท่านั้น เพราะซาไกจะคุ้นเคยกับชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น จะทำให้การเดินทางในพื้นที่เป็นไปได้โดยง่าย ชาวซาไกในพื้นที่บ้านติงเป็นชนเผ่ากลุ่มที่พัฒนามากขึ้นแล้ว บางคนทำการค้าขายกับชาวบ้านทั่วไป บางคนขายแรงงาน ซาไกกลุ่มนี้ไม่เร่ร่อน อีกทั้งยังแต่งกายใส่เสื้อผ้าเหมือนผู้คนทั่วไป
การเดินทางไปยังบ้านเขาติงนั้น จากตัวเมืองตรังให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 404 (ตรัง-สตูล) มุ่งหน้าสู่อำเภอทุ่งขาว จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 416 จนกระทั่งถึงตำบลลิพัง ให้เลี้ยวซ้าย จากนันตรงไปอีกราว 6 กิโลเมตรจะถึงบ้านเขาติง ที่บ้านเขาติงไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สามารถเข้าไปกางเต้นท์พักค้างแรมบริเวณใกล้เคียงกับชาวซาไกได้ โดยต้องแจ้งกับคนนำทางก่อน สิ่งสำคัญนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเตรียมอาหารและน้ำดื่มไปเอง เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆในพื้นที่ แหล่งชุมชนของเผ่าซาไกอยู่ไม่ห่างจากบ้านเขาติงมากนัก เดินทางจากหมู่บ้านเพียง 1 ชั่วโมง เส้นทางเป็นถนนลูกรัง ระยะทางราว 2 กิโลเมตร สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เมื่อกลับออกมาจากการดูวิถีชาวซาไกที่บ้านเขาติงแล้วยังสามารถขับรถไปท่องเที่ยวที่ น้ำตกโตนตก น้ำตกโตนเต๊ะ และน้ำตกคลองตง ได้อีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงจะคุกคามวิถีชีวิตของชาวซาไกจากนี้ตลอดไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงต้องติดต่อกัน ชาวซาไกจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคย เราในฐานะผู้ที่เปลี่ยนแปลงล้ำหน้าพวกเขาไปมากแล้ว คงต้องอยู่ในบทบาทผู้หยิบยื่นการเปลี่ยนแปลงนั้นแก่พวกเขา เราจำเป็นต้องเข้าใจวิถีเดิมที่เป็นมาของชนเผ่านี้ การศึกษาเรียนรู้ระหว่างกันนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น